ที่ โรงเรียนบ้านว่าน ตำบลบ้านว่าน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย นายอุรัฐ ไทยตรง นายอำเภอท่าบ่อ ได้เป็นประธานเปิดศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระดับอำเภอ ที่เป็นอาคารห้องสมุดภายในบริเวณโรงเรียนบ้านว่าน โดยทางโรงเรียนได้จัดให้อาคารห้องสมุดแห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนและคนในหมู่บ้าน ได้สืบสานตามแนวพระราชดำริ สู่วิธีการปฎิบัติอย่างพอเพียง รวมถึงจัดให้เป็นสถานที่ทำการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัยแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เป็นต้นแบบนำไปสู่ความสำเร็จตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทั้งสองพระองค์ทรงมีความห่วงใยในพสกนิการชาวไทยเสมอมา
โรงเรียนบ้านว่าน ยังเป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ “ด้วยรักและห่วงใย” ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ทรงห่วงใยเด็กนักเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร และมีพระประสงค์ให้เด็กที่ขาดแคลนได้มีอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้รับประทานอย่างเพียงพอ ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กน้อยในโครงการ “ด้วยรักและห่วงใย” ขึ้นที่โรงเรียนบ้านว่าน โดยพระองค์มีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พัฒนาเด็กและเยาวชนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดาร
ภายในบริเวณโรงเรียนบ้านว่าน ยังได้มีการจัดทำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยมุ่งเน้นให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองร่วมกันทำการเกษตรภายในโรงเรียน โดยส่งเสริมให้มีการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ และการประมง เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาประกอบเป็นอาหารกลางวัน ทำให้นักเรียนมีภาวะโภชนาการที่ดี มีความรู้ตลอดจนทักษะเพิ่มขึ้นนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้สนองพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่าน โดยได้เริ่มดำเนินโครงการกันมาตั้งแต่โรงเรียนร่วมโครงการพระราชดำริ “ด้วยรักและห่วงใย” ได้มีการขุดบ่อดินเลี้ยงปลานิล ปลาดุก และปลาชนิดต่างๆ พร้อมทั้งเล้าไก่พันธุ์พื้นเมือง เล้าเป็ดพันธุ์พื้นเมือง และเล้าไก่ไข่ที่สร้างอยู่บนบ่อปลา ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากนายอำเภอท่าบ่อสนับสนุนโครงการ รวมถึงโครงการเกษตรพอเพียงปลูกพืชผักสวนครัว
นอกจากนี้ในโครงการเศรษฐกิจพอเพียงยังได้มีการทำปุ๋ยหมักเพื่อนำมาใช้ ส่วนในการเลี้ยงไก่พอได้ขนาดแล้วจะนำเข้าโรงอาหารของโรงเรียน โดยผ่านสหกรณ์โรงเรียนเพื่อปรุงเป็นอาหารกลางวันให้เด็กรับประทาน และยังได้มีการนำปลาที่เลี้ยงได้ขนาดแล้ว ก็จะจำหน่ายให้แก่ชุมชน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการเลี้ยงคราวต่อไป ซึ่งเป็นการฝึกอาชีพด้านการประมงแก่เด็กนักเรียนในด้านการเกษตร รวมถึงการสนับสนุนการเกษตรเพื่อเป็นอาหารกลางวัน และเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนสู่ชุมชนได้อีกต่อไป.
อภิชาติ แสงรุ่ง ข่าว NC NEWS รายงาน